บาร์โค้ดคืออะไร มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร

45

คุณเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า บาร์โค้ด ที่เราเห็นติดกันตามสินค้าต่างๆนั้นมันคืออะไร และมันมีความสำคัญอย่างไรต่อตัวสินค้าทำไมเขาถึงนิยมใช้กัน ในบทความนี้จะมาบอกรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้

บาร์โค้ด (Barcode) คืออะไร

บาร์โค้ด ( Barcode ) คือ รหัสแท่ง โดยจะประกอบไปด้วยเส้นมืด (โดยส่วนมากจะเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง (โดยส่วนมากจะเป็นสีขาว) มีลักษณะเป็นแท่งบาร์เรียงติดกันในแนวดิ่ง โดยใช้แทนตัวอักษรและใช้แทนตัวเลข สามารถช่วยให้คอมพิวเตอร์รับเอาข้อมูลไปใช้ในการประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ โดยวิธีการใช้งานนั้นจะอาศัยการใช้เครื่องสแกนอ่านบาร์โค้ด เพื่อส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องพิมพ์รหัสที่แป้นพิมพ์โดยตรงให้เสียเวลา ทำให้เกิดความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้

ในปัจจุบันนั้นการใช้บาร์โค้ดเข้าไปมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการค้าขาย ที่ต้องการข้อมูลที่มีความรวดเร็วและถูกต้อง โดยการทำงานและการจัดการข้อมูลต่างๆจะทำผ่านทางคอมพิวเตอร์

บาร์โค้ดมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร

  • ประหยัดเวลาในการซื้อ-ขายสินค้า โดยเฉพาะการออกใบเสร็จ การรับชำระเงินต่างๆ
  • ง่ายต่อการจัดการระบบสินค้าคงคลังเพราะเครื่องสแกนจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จึงทำให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการหมุนเวียนของสินค้าได้เป็นอย่างดี
  • สามารถทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น การติดราคาและการปรับเปลี่ยนราคาต่างๆ
  • ป้องกันความผิดพลาดเวลาผู้บริโภคชำระเงิน และยังสามารถช่วยในการตรวจสอบข้อมูลของสินค้านั้นๆได้อีกด้วย

ประเภทของบาร์โค้ด

ในปัจจุบันนั้นจะสามารถแบ่งประเภทของ Barcode ออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

บาร์โค้ด 1 มิติ

จะมีลักษณะเป็นเส้นสีดำกับสีขาวสลับกันที่มีความหนาความบางสลับกันไป โดยสามารถที่จะบรรจุข้อมูลของตัวอักษรได้ประมาณ 20 ตัวอักษร เหมาะกับการใช้งานกับสินค้าโดยทั่วไป โดยเครื่องสแกนบาร์โค้ดที่นิยมใช้กับบาร์โค้ด 1 มิติ คือ Linear และแบบ Laser โดยตัวอย่างของบาร์โค้ดประเภทนี้ เช่น Code EAN-13, Code 128, Code 39 เป็นต้น

  • EAN-13 บาร์โค้ดมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ประกอบด้วยชุดตัวเลข 13 หลัก โดยเลข 3 หลักแรกหมายถึงประเทศผู้ผลิต 4 หลักถัดมาคือรหัสของโรงงานที่ผลิตสินค้า 5 หลักถัดมาคือรหัสของสินค้านั้นๆ และตัวเลขท้ายสุดคือตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของบาร์โค้ดนั้นๆ นิยมใช้กับสินค้าประเภทที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม
  • Code 39 และ Code 128 บาร์โค้ดประเภทนี้ไม่ต้องขึ้นทะเบียน นิยมใช้กันทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน สามารถใช้ได้ฟรี เป็นรหัสบาร์โค้ดที่ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดจำนวนหลัก และไม่ต้องมีตัวเลขในการตรวจสอบความถูกต้อง

บาร์โค้ด 2 มิติ

พัฒนาขึ้นมาจากแบบ 1 มติ และสามารถที่จะจุข้อมูลได้มากกว่า โดยสามารถจุข้อมูลได้ประมาณ 4000 ตัวอักษร ซึ่งมากกว่าบาร์โค้ดแบบ 1 มิติหลายเท่า ข้อมูลที่บรรจุนั้นนอกจากภาษาอังกฤษแล้วยังสามารถใช้ภาษาอื่นๆได้ เช่น ภาษาเกาหลี ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น

ซึ่งความโดดเด่นของบาร์โค้ดแบบ 2 มิติ คือ แม้ว่าภาพของบาร์โค้ดบางส่วนจะได้รับความเสียหายไปบ้างแต่ก็ยังสามารถจะถอดรหัสออกมาได้ โดยรูปแบบของบาร์โค้ด 2 มิติที่เป็นที่นิยมใช้ก็คือ QR-Code ซึ่งนิยมใช้กับ ID Line และ Data Matrix นั่นเอง

หากคุณมีสินค้าในคลังจำนวนมาก และต้องการความรวดเร็ว ชัดเจน และข้อมูลที่ถูกต้องในการตรวจสอบ การใช้ระบบบาร์โค้ดเข้ามาช่วยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเลยทีเดียว