แนะวิธีป้องกัน โรคอ้วน น้ำหนักเกิน ตัวการเสี่ยงโรคเรื้อรัง

82

น้ำหนักตัวที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานนั้นจะทำให้เราสุขภาพโดยรวมดี แต่หากเมื่อไหร่ที่เราน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีไขมันที่หน้าท้องหรือตามส่วนต่างๆของร่างกายมาก และอ้วนลงพุง จนเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน คุณจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ เพราะว่าหากปล่อยไว้นานเกินไปเดี๋ยวโรคต่างๆก็จะถามหา ดังนั้นในเรื่องของน้ำหนักตัวและการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงคุณควรหมั่นดูแลให้ดี

โรคอ้วน คืออะไร?

การที่ร่างกายของคนเรามีการสะสมไขมันตามส่วนต่างๆที่เกินปกติ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆตามมา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยหากค่าดัชนีมวลกาย ( Body mass index เรียกย่อว่า BMI ) เกิน 25 ขึ้นไป จะเรียกว่า น้ำหนักตัวเกิน แต่ถ้าค่านี้เกิน 30 จะเรียกว่า โรคอ้วน

อ้วน น้ำหนักเกิน ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

ความอ้วนสามารถทำให้เกิดหลายโรคได้ อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ ข้อเข่าเสื่อม โรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดต่างๆ โรคไขมันในเลือดสูง โรคนิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ยังพบว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ โดยหากคุณมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานก็จะมีโอกาสเป็นภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้

สาเหตุของการเกิดโรคอ้วน

  • การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง คนที่อ้วนลงพุงส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดจากการกินอาหารที่ให้พลังงานเกินพอดีในแต่ละวัน เช่น อาหารไขมันสูง อาหารที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลสูง
  • โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ หากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลงจะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้น้อยทำให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานได้
  • ภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน ผู้ชายจะมีกล้ามเนื้อในการช่วยเผาผลาญพลังงานมากกว่าผู้หญิง ดังนั้นร่างกายของผู้หญิงจึงอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชาย
  • กรรมพันธุ์ บางครอบครัวนั้นทุกคนอ้วนหมด ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ร่างกายสร้างเลปตินได้ต่ำ จึงส่งผลให้มีความหิวมากกว่าคนปกติ และการเผาผลาญพลังงานก็ต่ำลง
  • จากยาบางชนิด การรับประทานยาบางชนิดทำให้ความอยากอาหารมากขึ้น เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  • จิตใจที่ผิดปกติไป เช่น เครียด เป็นโรคซึมเศร้า แล้วแก้ไขความเครียดโดยการกินมากๆ
  • ขาดการออกกำลังกาย มีชีวิตที่สบายเกินไป นั่งๆ นอนๆ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายให้เผาผลาญพลังงาน

หากคุณอ้วน น้ำหนักเกิน ควรแก้ไขอย่างไร

  • ลดการบริโภคอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล คุณควรลดการทานอาหารประเภทนี้ลง กินให้พอเหมาะพอควร เพราะว่ามันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้น
  • รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น กากใยที่อยู่ในพืชผักผลไม้จะช่วยให้การขับถ่ายของคุณเป็นปกติ แถมแคลอรี่น้อยทานแล้วไม่อ้วน
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3-4 วัน วันละ 30 นาที จะช่วยเผาผลาญพลังงานและลดไขมันในร่างกายลงได้
  • ดื่มน้ำเปล่า อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีมากขึ้น

สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เราควรใส่ใจในเรื่องของการรับประทานอาหาร โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพิ่มอาหารจำพวกผักและผลไม้ให้มากขึ้น และหมั่นออกกำลังกาย เพียงเท่านี้ก็จะสามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติได้แล้วล่ะ