ความเชื่อแต่โบราณ วันห้ามต่างๆ ของไทย มีวันอะไรบ้าง

53

แม้เวลาได้ล่วงเลยจนมาถึงยุคปัจจุบัน ความเชื่อต่างๆที่เป็นวัฒนธรรมไทยโดยสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ยังคงอยู่ อย่างเช่น วันห้ามต่างๆ ที่เราก็ยังได้ยินได้ฟังจากปากของคนทั่วไป เช่น “ไม่ให้ตัดผมวันพุธ” ซึ่งคำนี้เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยิน และหลายคนก็ไม่รู้ถึงเหตุผลด้วยซ้ำว่าเพราะอะไรถึงห้ามตัดผมวันพุธ

คนเฒ่าคนแก่สมัยโบราณได้กำหนด วันห้ามต่างๆ ของไทย ขึ้นมา จะมีวันอะไร และได้ห้ามอะไรบ้างนั้นมาติดตามอ่านไปพร้อมกันได้เลย

ห้ามขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์

ตามหลักทางโหราศาสตร์วันเสาร์นั้นเป็นวันแห่งความทุกข์ ไม่เหมาะกับการขึ้นบ้านใหม่ซึ่งถือว่าเป็นวันมงคล ซึ่งจะต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง คนสมัยโบราณจึงยึดเอาหลักความเชื่อทางโหราศาสตร์นี้โดยไม่ให้มีการประกอบพิธีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้าน หรือสร้างอาคารต่างๆ เช่น การยกเสาเอกบ้าน การวางศิลาฤกษ์อาคาร เป็นต้น

ห้ามเผาศพวันศุกร์

ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณบอกกันไว้ว่าห้ามทำการฌาปนกิจศพวันศุกร์ เพราะว่าคำว่า “ศุกร์” มันไปคล้องจองกับคำว่า “สุข” ซึ่งหมายถึงความสุข ซึ่งมีความเชื่อกันว่าการที่เราเอาความสุขไปให้คนที่ตายไปแล้วไม่มงคล มันจะส่งผลให้ความทุกข์ต่างๆมาหาเราได้ ส่วนอีกความเชื่อก็คือ ดาวศุกร์ คือดาวแห่งความรัก ความบันเทิงใจ ซึ่งไม่เหมาะกับการกระทำที่เป็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้เองคนสมัยโบราณจึงได้ห้ามการกระทำดังกล่าวในวันศุกร์

ห้ามโกนจุกวันอังคาร

ดาวอังคารถือว่าเป็นดาวเทพเจ้าแห่งสงครามซึ่งเหมาะแก่การที่จะออกรบออกศึกซะมากกว่า ไม่ควรที่จะมาประกอบพิธีโกนจุกซึ่งถือว่าเป็นพิธีการอันมงคล ซึ่งหากกระทำการนี้กันในวันดังกล่าวก็อาจจะมีการทะเลาะวิวาทกันเกิดขึ้นได้

พุธห้ามตัด

คำโบราณท่านว่า “วันพุธห้ามตัด” โดยห้ามทั้งการตัดผมและการตัดต้นไม้ เพราะถือว่าวันพุธเป็นวันแห่งการเจริญเติบโตรุ่งเรืองในด้านต่างๆ โดยมีการกล่าวเอาไว้ว่าหากใครที่ตัดผมวันพุธก็จะกลายเป็นคนโง่เขลา ไม่มีการเติบโตทางสติปัญญา

พฤหัสห้ามถอน

ส่วนวันพฤหัสเป็นวันครู ซึ่งเป็นวันที่ควรศึกษาเล่าเรียนวิชาเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ควรที่จะมีการโค่นหรือว่าถอนทำลายสิ่งใดๆออกไป

ความเชื่อเกี่ยวกับวันห้ามต่างๆ ของไทยที่มีมาแต่โบราณนั้นยังคงมีอีกมาก เพียงแต่เรายังไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเท่านั้น แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาหลายชั่วอายุคน แต่ความเชื่อเหล่านี้น่าจะก็ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนานแสนนาน